ลายผ้าไหมในจังหวัดสุรินทร์
ประวัติความเป็นมา
จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมานานและได้สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมานานจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่น่าสนใจยิ่งหากศึกษาอย่างลึกซึ่งแล้วจะค้นพบเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนว่าจังหวัดสุรินทร์มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองในเรื่องผ้าไหมตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมต่างๆซึ่งส่งผลต่อการผลิตและการทอไม่ว่าจะเป็นลวดลายของผ้าไหมการผลิตเส้นไหมน้อยและกรรมวิธีการทอจังหวัดสุรินทร์นิยมนำเส้นไหมขั้นหนึ่งหรือไหมน้อย(ภาษาเขมร
เรียก “โซกซัก”)มาใช้ในการทอผ้าไหมน้อยจะมีลักษณะเป็นผ้าไหมเส้นเล็กเรียบนิ่มเวลาสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบายนอกจากนี้การทอผ้าไหมของจังหวัดสุรินทร์ยังมีกรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนและเป็นกรรมวิธีที่ยากซึ่งต้องใช้ความสามารถและความชำนาญจริง
เช่น การทอผ้ามัดหมี่พร้อมยกดอกไปในตัวซึ่งทำให้ผ้าไหมที่ได้เป็นผ้าเนื้อแน่นมีคุณค่ามีการทอที่เดียวใบประเทศไทยจนเป็นที่สนพระทัยและเป็นที่ชื่นชอบของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงรับสั่งว่าใส่แล้วเย็นสบายอีกทั้งยังใช้ฝีมือในการทออีกด้วย
ภาพของลายผ้าไหมที่มีความสวยงามความประณีตความละเอียดอ่อนและความใสใจของผู้ที่ทอผ้าไหมเพื่อที่จะให้ลายของผ้าแต่ละลายออกมามีความสวยงามน่าประทับใจและยังเป็นที่น่าภาคภูมิใจมากสำหรับชาวสุรินทร์ของเราที่สามารถมีลวดลายผ้าไหมที่ออกมาสวยงามได้มากขนาดนี้ตัวอย่างของลายผ้าไหมที่มีความสวยงามละเอียดอ่อนและมีประวัติที่ยาวนาน
ลักษณะเด่นของผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์
1.มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกัมพูชาและลวดลายที่บรรจงประดิษฐ์ขึ้นล้วนมีที่มาและมีความหมายอันเป็นมงคล
2.นิยมใช้ไหมน้อยในการทอซึ่งไหมน้อยคือไหมที่สาวมาจากเส้นใยภายในรังไหมมีลักษณะนุ่มเรียบเงางาม
3.นิยมใช้สีธรรมชาติในการทอทำให้มีสีไม่ฉูดฉาด
มีสีสันที่มีลักษณะเฉพาะ คือ สีจะออกโทนสีขรึม เช่นน้ำตาล แดง เขียว ดำ เหลือง
อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมจากเปลือกไม้
4.ฝีมือการทอจะทอแน่นมีความละเอียดอ่อนในการทอและประณีต
รู้จักผสมผสานลวดลายต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แสดงถึงศิลปะที่สวยงามกว่าปกติ
5.แต่เดิมนั้นการทอผ้าไหมของชาวบ้านทำเพื่อไว้ใช้เอง
และสวมใส่ในงานทำบุญและงานพิธีต่างๆ
การทอจะทำหลังจากสิ้นสุดฤดูกาลทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักมิได้มีการทอเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใดจนมีคำกล่าวทั่วไปว่า
“พอหมดหน้านา ผู้หญิงทอผ้า
ผู้ชายตีเหล็ก”
ผ้าไหมมัดหมี่
1.มัดหมี่โฮล หรือ จองโฮล(จองเป็นภาษาเขมร หมายถึง
ผูกหรือมัด) หรือ
ซัมป็วตโฮลเป็นหนึ่งในผ้าไหมมัดหมี่ของเมืองสุรินทร์มัดหมี่แม่ลายโฮลถือเป็นแม่ลายหลักของผ้ามัดหมี่สุรินทร์ที่มีกรรมวิธีการมัดย้อมด้วยวิธีเฉพาะไม่เหมือนที่ใดๆความโดดเด่นของการมัดย้อมแบบจองโฮลคือในการมัดย้อมแบบเดียวนี้
สามารถทอได้ 2 ลาย คือ โฮลผู้หญิง (โฮลแสร็ย) หรือผ้าโฮลธรรมดา
และสามารถทอเป็นผ้าโฮลผู้ชาย (โฮลเปราะฮ์) ไว้นุ่งในงานพิธีต่างๆ
ผ้าโฮล ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทผ้าไหม ในงาน “มหกรรมผ้าไทยเทิดไท้องค์ราชินี”เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2545 ณ
ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์สาขาบางกะปิกรุงเทพฯซึ่งจัดโดยกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย
ผ้าโฮล
เป็นผ้าไหมมัดหมี่ที่มีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น
นิยมใช้เส้นไหมน้อยในการทอ มีการมัดย้อมเส้นพุ่งด้วยวิธีการเฉพาะเรียกว่า จนองโฮล
โดยการมัดหมี่ผ้าโฮลนิยมมัดหมี่ 21
ลำซึ่งการมัดหมี่เพียงหนึ่งลาย สามารถทอได้ถึง 4 แบบด้วยกัน ได้แก่ (ลายโฮลผู้ชาย)ผ้าโฮลสะไรย์
(ลายโฮลธรรมดา หรือโฮลผู้หญิง) ผ้าโฮลเกียรติ และผ้าโฮลปะนะในการค้นลำมัดหมี่
มัดหมี่โฮลแต่ละลำจะเป็นอิสระต่อกันการทอจะใช้เทคนิคการทอพิเศษโดยการทอผ้าให้ลายเฉียงขึ้นเรียกว่า
“ปะน๊ะ” การมัดย้อมจะนิยมใช้สีธรรมชาติและมัดย้อมหลายครั้งละเอียดทุกขั้นตอน
การย้อมสีผ้าโฮล
คือจะต้องให้ครูทอผ้ามาสอนวิธีการย้อมเสียก่อนเพราะถือกันว่าเป็นผ้าครูที่จะต้องผ่านกระบวนการครอบบครูเสียก่อนผ้าโฮลมี
5 สี ได้แก่ สีดำ, แดง,เหลือง,น้ำเงิน และเขียว สีเหล่านี้ได้จากการย้อมด้วยสีธรรมชาติ
เนื้อผ้ามักมี 2 สี ด้านหน้าเป็นสีอ่อน
อีกด้านหนึ่งเป็นสีเข้มกว่า
ผ้าโฮลเปราะห์
(ลายโฮลผู้ชาย)
เป็นผ้ามัดหมี่ของกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรบริเวณอีสานใต้ มีลวดลายและสีสันต่าง ๆ
กัน ใช้เป็นผ้านุ่งโจงกระเบนของผู้ชาย ในสมัยโบราณเรียก “ผ้าปูมเขมร” ราชสำนักใช้เป็นผ้าพระราชทานให้ข้าราชบริพารตามตำแหน่ง
เป็นผ้าขนาดใหญ่ กว้างยาวมาก มักมีเชิง คล้ายผ้าปาโตลาของอินเดีย บางทีเรียก
ผ้าสมปัก หรือ ผ้าสองปัก ภาษาเขมรหมายถึงผ้านุ่งซึ่งจะพระราชทานให้ตามยศ เช่น
สมปักปูมสมปักกรวยเชิงสำหรับข้าราชการชั้นสูงผ้าสมปักริ้วผ้าสมปักลายสำหรับข้าราชการระดับเจ้ากรมและปลัดกรมผ้าสมปักล่องจวนที่มีพื้นสีขาวสำหรับพราหมณ์นุ่งได้ยกเลิกไปในสมัยราชการที่
5
ผ้าโฮลสะไรย์
ลายโฮลผู้หญิง
(โฮลสะไรย์) เป็นผ้ามัดหมี่ที่เกิดจากการมัดหมี่ลวดลายเดียวกันกับ ผ้าโฮลเปราะห์แต่เมื่อนำมาทอจะใช้วิธีการดึงลายให้เกิดลวดลาย
อีกแบบหนึ่ง และเพิ่มองค์ประกอบของลวดลายเพิ่มเข้าไป คือมีลายสายฝน หางกระรอกและคั่นด้วยเส้นพื้นสีแดงครั่งเป็นต้น
ซึ่งแตกต่างจากลายโฮลเปราะห์ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของผ้า
คือบริเวณริมผ้าจะมีเส้นสันนูนขนานไปกันทั้งสองด้าน
ในทิศของแนวเส้นพุ่งอันเนื่องจากการจัดลวดลายแล้ว ม้วนเส้นไหม
ที่เหลือสอดเข้าในช่องว่างของเส้นยืน จากนั้นทอทับ
ทำให้ริมผ้าของผ้ามัดหมี่สุรินทร์มีความหนาและแข็งแรง
2. มัดหมี่อัมปรม หรือ
จองกราเป็นการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืนซึ่งมีปรากฏที่จังหวัดสุรินทร์แห่งเดียวในประเทศไทยการมัดหมี่อัมปรมนี้จะทอให้ส่วนที่มัดเป็น
“กราปะ” คือ จุดปะขาวของเส้นยืน มาชนกับจุดปะขาวของเส้นพุ่ง
ให้เป็นเครื่องหมายบวกบนสีพื้น เช่น
การทอบนพื้นสีแดงซึ่งย้อมด้วยครั่งก็เรียกว่าอัมปรมครั่งการทอบนพื้นสีม่วงก็เรียกว่า
อัมปรมปะกากะออม
จังหวัดสุรินทร์ได้ตัดเสื้อผ้าไหมมัดหมี่อัมปรมให้คณะรัฐมนตรีในการเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่
ณ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 10 –11 พฤศจิกายน
2544
3.มัดหมี่ลายต่างๆ หรือ
จองซินเป็นมัดหมี่ที่เหมือนจังหวัดอื่นๆ ทั่วๆ ไป มีหลายลาย แบ่งได้ดังนี้
3.1 มัดหมี่ลายธรรมดา เช่น ลายหมี่ข้อ หมี่คั่น หมี่โคม
ซึ่งจะพบมากที่ บ้านจารพัต อำเภอศีขรภูมิบ้านสดอ บ้านนาโพธิ์ บ้านเขวาสินรินทร์ ตำบลเขวาสินรินทร์
กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ บ้านสวาย บ้านนาแห้ว ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์
3.2 มัดหมี่ลายกนก เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายสับปะรด ลายพระตะบอง
ลายก้านแย่ง ลายพนมเปญ ลายดอกมะเขือ ส่วนมากจะพบที่ บ้านสวาย ตำบลสวาย
อำเภอเมืองสุรินทร์ บ้านอู่โลก ตำบลอู่โลก อำเภอลำดวน
3.3 มัดหมี่ลายรูปสัตว์ ต้นไม้ และลายผสมอื่นๆ เช่น รูปนก ไก่
ผีเสื้อ ช้าง ม้า นกยูง ปลาหมึก พญานาค นำมาผสมกับลายต้นไม้ดอกไม้ต่างๆ
หรือทอลายสัตว์เดี่ยวๆ ตลอดผืน พบมากเกือบทุกหมู่บ้าน
ผ้ายกดอกลายดอกพิกุล หรือ ปกาปกุน
ผ้ายกดอกลายนี้จะย้อมเส้นด้ายยืนสีเดียวและอาจใช้สีอื่นคั่นระหว่างดอกก็ได้
การเก็บตะกอ 4 ตะกอ โดยการทอลายขัดเป็นพื้น 2 ตะกอ ส่วนอีก 2 ตะกอเป็นลวดลายการทอลายนี้จะทอทีละตะกอ
จะพบที่บ้านเขวาสุนรินทร์เป็นส่วนใหญ่
แหล่งผ้าไหมเมืองสุรินทร์
ที่บ้านสวายมีผ้ามัดหมี่ลายฟ้อนซึ่งใช้เป็นผ้าแขวนผนังและทอผ้าขาวถวายพระสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและเวลามีงานแต่งงานฝ่ายผู้หญิงมักจะใช้ผ้าสีขาวเป็นผ้าสมมาให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายส่วนผ้าที่ใช้นุ่งห่มมีผ้าซิ่นที่ต่อด้วยตีนซิ่นที่เป็นมัดหมี่
เรียกว่าผ้าปะโบล ผ้าสไบนิยมสีขาวทอแบบยกดอกหรือลายลูกแก้ว ซึ่งเรียกว่าโฉนดเรย
ไม่นิยมสีดำแต่ก็มี ส่วนผ้ามัดหมี่มีลายโคม (กะเงาะมูย) ลายหงอนไก่แจ้
(กะเมนแจ้)ลายทะเลพับหรือลายคลื่น (ตะลีบ๊อด) และผ้าปะกากันเตรยเป็นลายทางริ้วๆ
มีลายขวางๆ คล้ายดอกหญ้าเจ้าชู้ที่ติดผ้า
ถ้าเป็นเส้นขวางตัดกันเรียกลายกระแซเอหรือลายลูกอีกา
บ้านนาแห้ว ตำบลสวาย มีทอทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย
ผ้าซิ่นผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าทอไหมหัว (โสดกบาล) เป็นผ้านุ่งตาตาราง และมีผ้าลายลูกแก้ว
ทอ 4 เขา เรียกตะกอบูลห่มสไบเริกที่เป็นผ้ายกไหมลายลูกแก้วและทอผ้ามัดหมี่ที่เรียกผ้มปูม
หรือโฮลเปร๊าะ สำหรับการทอผ้ายกลายลูกแก้วนั้นเรียกว่าเหยียบกูบมีทอตั้งแต่ 3 -8
ตะกอ
บ้านจันรม หมู่ที่ 4 ตำบลตาอ๊อง
ผู้หญิงนุ่งซิ่นทั้งผ้ามัดหมี่ ผ้าอัมปรม ผ้าสมอเอและผ้าประกากันเตรย
ผ้ามัดหมี่ที่ใช้ทั่วไป คือ ผ้าหมี่คั่นลายขอ ลายนาค ลายไก่ ลายนกยูง ผ้าตาตาราง
มีผ้าอัมปรมซึ่งเป็นผ้าที่เก่าที่สุดของเขมรและนิยมใช้เป็นผ้าสมมาผู้เฒ่าเช่นเดียวกับผ้าสมอเอ
อันเป็นผ้าที่ย้อมแล้วนำมาทอไม่ต้องมัดต่างจากมัดหมี่ที่ต้องมัดให้เกิดสีต่างๆตามลายที่กำหนดไว้
บ้านจารพัท นั้นก็เช่นเดียวกับที่อื่น
ที่ผู้หญิงเชื้อสายเขมรนุ่งผ้าซิ่นไหม
ที่นี่มีทั้งเลี้ยงไหมเองและซื้อจากพ่อค้าที่นำมาขาย มาทอ
ผ้าซิ่นผู้หญิงมีผ้าอัมปรม ผ้าอันลุยซีม (หมี่คั่นแบบสยาม) ผ้าโฮล
ซึ่งมีทั้งโฮลริ้วและโฮลเปร๊าะที่คิดลายใหม่คือลายแมงมุมดูคล้ายลายโคม
และผ้ากราซะไน ลายแหโบราณ
การนุ่งผ้าซิ่นก็เหมือนกับผู้หญิงอีสานโบราณทั่วไปที่นิยมนุ่งซิ่นซ้อน2 ผืน เพราะผ้าไหมบางจะแนบตัวมากไป
จึงนุ่งซ้อนอีกผืนเพื่อให้ผ้านุ่งอยู่ตัว
บ้านดงเย็น ตำบลหนองบัว อำเภอท่าตูม นางถาวร
เกลี้ยงอุทธา อายุ 38 ปี ได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันที่นี่ทอผ้าที่ย้อมสีธรรมชาติแบบใหม่ไม่ทอผ้าซิ่นแบบเก่าแล้ว
ที่ทออยู่คือผ้าห่มที่ทอด้วยฝ้าย แบบใช้ 6 ตะกอ
ตามแบบโบราณโดยจะทอยกเป็นลายลูกแก้ว และจะทำย้อย (ชายครุย)ทั้ง 2 ชาย ส่วนผ้าทำที่นอน (เสื่อ)
เป็นผ้าลายทาง เรียกผ้า 2 เขา และที่เป็นตารางเรียกผ้า 6 เขา
บ้านหนองกลาง หมู่ 11 ตำบลหนองบัว อำเภอท่าตูม
ปัจจุบันไม่ทอแบบโบราณแล้ว แต่จะทอผ้าฝ้ายแบบใหม่ ซึ่งเอกชนคือกลุ่มพรรณไม้
มาให้การสนับสนุน และย้อมสีแบบธรรมชาติ
ส่วนผ้าซิ่นมัดหมี่มีลายโคมน้อย
ลายกำแพงคั่นทั้งท้องผ้าและตีนซิ่นแบบเขมรมีทอผ้าโฮลซึ่งเป็นลายทางยาวเล็กๆ
และแบบส่วยคือติดปะโบล
นอกจากนี้มีลายพระธาตุพนมซึ่งลอกเลียนมาจากลายของสกลนครที่จังหวัดสุรินทร์พบกลุ่มเชื้อสายส่วย
2 แห่ง คือที่บ้านสองห้อง หมู่ 5 ตำบลหัวงัว อำเภอสนมและที่
บ้านตากลาง หมู่ 13ตำบลกะโพ อำเภอท่าตูม
ซึ่งที่บ้านสองห้อง ทอผ้าใช้เช่นเดียวกับแหล่งอื่น โดยมีทั้งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
เมื่อเวลาย้อมไหม กล่าวว่ามีการถือเคล็ดในการย้อมสีจากเปลือกไม้ โดยเฉพาะ
การย้อมครามกับผ้าไหม ซึ่งจะติดดีมาก แปลกจากที่อื่นที่ผ้าไหมจะย้อมครามไม่ค่อยติด
ครามนั้นปกติจะย้อมติดดีกับผ้าฝ้าย สำหรับที่บ้านสองห้องสามารถย้อมครามในผ้าไหมได้ดีด้วยมีเคล็ดที่ว่า
เวลาย้อมห้ามพระและสตรีรอบเดือนเข้ามาในบริเวณบ้านที่กำลังทำการย้อมผ้าอยู่
และห้ามไม่ให้คนที่กำลังย้อมผ้าพูดคุยกับใครทั้งสิ้น